นิสัยมีวินัยเป็นสิ่งที่เราต้อง “สร้าง” และ “ปลูกฝัง” ให้ลูกน้อยของเรา เพื่อให้เป็นต้นทุนชีวิตที่ดีงามเมื่อลูกเจริญวัยขึ้น โดยเราจะต้องปรับวิธีการและรูปแบบการสื่อสารให้เหมาะกับลูกในวัยที่กำลังเติบโต เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นระหว่างลูกกับเรา เพราะบางครั้งลูกอาจต้องการความเป็นอิสระในความคิด การกระทำ ซึ่งทำให้ลูกมีพฤติกรรมท้าทายเพราะกล้าแสดงออกมาขึ้น และสามารถแสดงความคิดของตนเองได้ หรือมีคำถามซึ่งเป็นข้อโต้แย้งที่อาจทำให้อารมณ์ของเราแปรปรวนได้ ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องปรกติสำหรับเด็กในวัยประถมต้นเช่นลูกของเรา ซึ่งเราเองต้องรู้จักสงบสติอารมณ์ก่อนที่จะจัดการกับเรื่องราวดังกล่าว
การสร้างนิสัยมีวินัยให้กับเด็กวัยนี้อาจไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ไม่ยากเกินกำลังที่เราจะทำให้แก่ลูกน้อยของเรา เพราะนิสัยมีวินัยนี้จะช่วยให้ลูกได้เรียนรู้ “ผิดจากถูก” และทำให้ลูกเติบโตเป็นคนที่อยู่เป็น และข้อสำคัญคือเราต้องมีความอดทนสูง ถึงแม้ว่าผลที่ได้จะยังไม่สมบูรณ์แบบเสมอไปตามที่เราต้องการ เราก็ยังคง move on โดยไม่ย่อท้อ มาดูกันค่ะว่าเราจะบริหารจัดการกับความคิดและพฤติกรรมของลูกน้อยได้อย่างไร
พ่อแม่ผู้ปกครองคือกระจกเงาของลูก เด็กเล็ก ๆ มักมีพฤติกรรมเลียนแบบจากคนใกล้ตัว สิ่งใกล้ตัว เช่น ตื่นเช้าขึ้นมาลุกจากที่นอน เราเก็บที่หลับปัดที่นอนให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ชวนลูกทำด้วยคุยกันไปด้วยอย่างมีความสุข (แทนที่จะเป็นการออกคำสั่งให้ลูกทำ เพราะเด็กมักจะเกิดความรู้สึกต่อต้านอยู่ลึก ๆ ในใจ หากถูกสั่งให้ทำโน่นทำนี่โดยเฉพาะในสิ่งที่ไม่อยากทำ) ลูกจะเห็นตัวอย่างที่ดีและชอบทำตาม ถึงแม้แรก ๆ จะยังทำได้ไม่ค่อยเรียบร้อย แต่ต่อไป ๆ ลูกจะพัฒนานิสัยมีวินัยไปได้เรื่อย ๆ และทำได้ดีขึ้นฃ
เด็ก ๆ ไม่ชอบการสอน เพราะที่โรงเรียนมีการสอนหลายวิชาอยู่แล้ว เราจึงควรใช้วิธีการพูดคุยอย่างเป็นกันเอง อย่างมีความสุข อย่างมีสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน ชี้ชวนชักชวนเชิญชวนเจ้าตัวน้อยของเราเชิงตรรกะในเรื่องต่าง ๆ ที่เราอยากให้ลูกรับรู้และเรียนรู้ เช่น เมื่อลูกไม่ยอมช่วยถือของเข้าบ้าน หรือไม่ยอมหยุดโต้เถียงกับพี่น้อง เราก็จัดการส่งเจ้าตัววุ่นทั้งหมดเข้าห้องสักสองสามนาที เพื่อให้อารมณ์เย็นลง แล้วจึงเริ่มพูดคุยถึงเหตุและผลของพฤติกรรมที่ทำกันไป เป็นการพูดคุยสั้น ๆ และทำให้เป็นเรื่องเบา ๆ เกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขาทำผิด ช่วยกันสร้างทางเลือกที่ดีกว่าในอนาคต เพื่อให้ลูกของเรามีพัฒนาการความเข้าใจที่ดีเกี่ยวกับการสร้างนิสัยมีวินัย การใช้เวลาที่มีคุณภาพและการให้ความสนใจเชิงบวกกับลูกจึงสำคัญยิ่ง
บางครั้งเด็กเล็กอาจมีปัญหาด้านจิตใจ เช่น เรียนไม่ทันเพื่อน ไม่เข้าใจสิ่งที่คุณครูสอน การบ้านยากเกินไป โดนเพื่อนแกล้ง แต่พูดไม่ออกบอกไม่ถูก จึงกลายเป็นความหงุดหงิด เจ้าอารมณ์ เราจึงต้องเป็นคนช่างสังเกต ให้ความสนใจเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับลูกทั้งที่โรงเรียนและกับเพื่อน ๆ นักเรียนของลูก หากลูกมีข้อกังวลใจ ควรแจ้งให้คุณครูทราบ เพราะบางทีอาจเป็นเรื่องเล็กน้อยที่แก้ไขได้ไม่ยาก หรืออาจนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาสุขภาพจิต หรือความบกพร่องทางการเรียนรู้ เพื่อเป็นการช่วยลูกของเราให้สร้างนิสัยมีวินัยในการดูแลตัวเอง มีทักษะในการถ่ายทอด การพัฒนาการสื่อสารเชิงบวกที่มีประสิทธิผล และการเรียนรู้โลกเพื่อชีวิตในอนาคต และเราสามารถช่วยลูกวางแผนชีวิตได้ด้วยการสร้างพื้นที่ทำการบ้านและกำหนดเวลาทำการบ้าน เพื่อสร้างความอบอุ่นใจให้ลูก รวมทั้งติดตามความคืบหน้าของลูก ตรวจสอบความรู้สึกของลูก และให้ความเข้าใจลูก เป็นการแก้ปัญหาร่วมกันและพร้อมที่จะเป็นที่ปรึกษาให้
ขวัญและกำลังใจเป็นแรงกระตุ้นที่สำคัญและทรงประสิทธิภาพสำหรับลูกน้อย คำชมเชยเมื่อลูกแสดงความสามารถในการสร้างนิสัยมีวินัยได้สำเร็จ เป็นสิ่งที่เราต้องมอบให้ลูกทันทีเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจ รับรองได้ว่าลูกใจฟูแน่นอน และจะขยันทำขึ้นเรื่อย ๆ เป็นการพัฒนาตัวเอง โดยเราไม่ต้องพูดซ้ำบ่อย ๆ คำชมเล็กน้อยสามารถให้ผลได้อย่างแท้จริง หรืออาจให้รางวัลด้วยการให้คำอนุญาตให้ลูกทำในสิ่งที่ชอบในวันหยุด เป็นการตั้งเป้าหมายร่วมกัน เช่น “เมื่อลูกออกกำลังกายตอนเช้า อาบน้ำแต่งตัว กินข้าว และทำการบ้านเสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้เล่นมือถือได้หนึ่งชั่วโมง” ฯลฯ การันตีได้เลย ลูกทำได้โดยไม่ขาดตกบกพร่อง และทำซ้ำเองได้โดยเราไม่ต้องเตือนอีก และเราต้องรักษาคำพูดของเราด้วย เมื่อการกระทำของเราตรงกับคำพูด ลูกจะรู้สึกสบายใจและผ่อนคลาย และหากลูกเล่นโทรศัพท์เกินเวลา ก็ให้เตือนลูกด้วยสันติวิธีที่ทำผิดกฎคำอนุญาต เพื่อให้ลูกเรียนรู้การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ด้วยตัวเอง
เด็กวัยประถมต้นเริ่มมีพัฒนาการที่เป็นอิสระมากขึ้น แต่ถึงอย่างไรก็ยังเป็นเด็ก และต้องการคำแนะนำจากผู้ใหญ่อย่างมาก การสร้างนิสัยมีวินัยให้ลูกจึงต้องใช้วิธีการที่สงบ เอาใจใส่ และมีเหตุมีผลจึงจะได้ผลดีที่สุด ทำให้ลูกรับฟังและมีความมั่นใจมากขึ้น ให้โอกาสลูกได้เรียนรู้วิธีการตัดสินใจที่ดีด้วยตนเอง โดยพิจารณาถึงผลที่ตามมาของพฤติกรรมที่ทำไว้ เป็นการสอนทักษะการแก้ปัญหาร่วมกันอย่างสร้างสรรค์
ณัณท์
แหล่งอ้างอิง: https://www.verywellfamily.com/discipline-strategies-for-school-age-kids-620099 Discipline for School-Aged Kids: Strategies and Challenges